ตามที่สหภาพยุโรปมีนโยบายที่จะประกาศใช้กฎระเบียบ REACH เป็นมาตรการสำหรับการควบคุมสารเคมีที่จะผลิตและจำหน่ายในสหภาพยุโรป รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีในการผลิตด้วย โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2007 ซึ่งภายใต้กฎระเบียบนี้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า สารเคมีที่มีรายชื่ออยู่ใน Annex I ของ Directive 67/548/EEC ตั้งแต่ 1 ตัน/ปี/ราย ต้องยื่นจดทะเบียนสารเคมีตามระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะไม่สามารถผลิต จำหน่าย สารเคมีนั้นๆ ในสหภาพยุโรป ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก โดยจะทำให้เพิ่มต้นทุนและมีภาระค่าใช้จ่ายในการยื่นขอจดทะเบียน ราคาสารเคมีที่อาจสูงขึ้น และอาจประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรป โดยสรุปแล้วคาดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎระเบียบ REACH ต่อผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในและนอกกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป มีดังนี้
  1. สารเคมีมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ
  2. สารเคมีบางรายการอาจหายไปจากตลาด เนื่องจากไม่มีผู้ผลิต เพราะไม่คุ้มต่อการจดทะเบียน
  3. อาจมีการผูกขาดการผลิตสารเคมี เนื่องจากผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแข่งขันด้านราคา หรือเจ้าของข้อมูลจดทะเบียนรายแรกไม่ร่วมมือในการขอร่วมใช้ข้อมูล ซึ่งร่างระเบียบ REACH ห้ามผู้จดทะเบียนซ้ำทำการทดลองหาข้อมูลใหม่ แต่บังคับให้จ่ายค่าสิทธิการใช้ข้อมูลแก่ผู้จดทะเบียนรายแรก
  4. เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสูตร/วิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถใช้สารเคมีอื่นเป็นวัตถุดิบทดแทน ในกรณีที่สารเคมีมีราคาสูงขึ้น หรือไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด
  5. ในกรณีของผู้ประกอบการไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สารเคมี (Substance) ในการผลิตสินค้า (Article) หากไม่ทราบว่าสารเคมีที่นำมาใช้นั้นๆ เป็นสารเคมีอันตรายตาม Directive 67/548/EEC ซึ่งเข้าข่ายต้องจดทะเบียนตามร่างระเบียบ REACH แล้วส่งสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดสหภาพยุโรป จะส่งผลให้เกิดปัญหาได้
  6. เสียโอกาสทางธุรกิจ ในกรณีที่ต้องรอผลการพิจารณาให้ผลิตหรือใช้สารเคมี
  7. มีความเสี่ยงที่ความลับทางธุรกิจอาจรั่วไหลได้จากการร่วมจดทะเบียนในลักษณะของ Consortium
  8. หากผู้ประกอบการไม่มีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย อาจซื้อสารเคมีอันตรายหรือวิธีการผลิตภัณฑ์ (Knowhow) ที่มีการใช้สารเคมีอันตรายมาใช้งาน ซึ่งในที่สุดก็จะไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายได้


[Back]

TrueHits